ในเวลาบ่ายแก่ๆ ณ บ้านไม้หลังเก่าที่ใช้เป็นโรงงานทอผ้าแห่งหนึ่งริมทะเลสาบอินเลในรัฐฉาน หญิงชราคนหนึ่งกำลังวุ่นอยู่กับการร้อยเรียงเส้นใยบัวเพื่อนำมาทำเป็นหลอดด้าย ก่อนหน้านี้ ก้านบัวแต่ละก้านจะถูกนำมาหักแล้วดึงเอาใยบัวบางๆออก…ซ้ำแล้วซ้ำเล่า…ทีละเส้นใย ทีละเส้นๆ และกว่าจะนำมาเรียงร้อยผสมกันเป็นเส้นด้ายเส้นยาวก็กินเวลาหลายชั่วโมง หญิงชราที่พวกเราเรียกกันสั้นๆว่า ยายบัว มีหน้าที่คอยนั่งหลังขดหลังแข็งนำเส้นด้ายดิบที่ผ่านการย้อมสีมานั้น มาปั่นรวมกันเป็นหลอด ตั้งแต่เช้าจรดเย็นเพื่อให้ได้มาซึ่งรายได้พอกินอยู่ประทังชีวิต
ด้วยเรี่ยวแรงที่อ่อนระโหยไปตามวัย จะไปทำงานอย่างอื่นที่ใช้สายตาหรือแรงงานอย่างสาวๆก็คงไม่ได้อีกแล้ว แกเลยมานั่งปั่นใยบัวเลี้ยงตัวเอง เสียงปั่นด้ายที่ดังจากเครื่องที่ตั้งอยู่บนไม้กระดาน โยกเยกโยกเยกไปมาตามแรงหมุนวงล้อปั่นด้าย ยายบัวปั่นด้ายสีแดงและสีน้ำเงินใสสด กระเป๋า ผ้าพันคอ หรือเสื้อตัวสวย ล้วนมาจากด้ายที่ผ่านมือยายบัวมาแล้วทั้งนั้น ปีนี้เธออายุได้ 64 ปี ตามรูปลักษณ์ภายนอกอาจจะดูประมาณ 70 กว่าปีซึ่งแก่กว่าอายุจริง อาจจะเป็นเพราะแกตรากตรำทำงานหนัก เลยทำให้สังขารร่วงโรยไปไวกว่าปกติ
ทำงานตั้งแต่แปดโมงเช้าถึงประมาณห้าโมงเย็น แกนั่งหลังขดหลังแข็งทำไปเหมือนถูกกลืนด้วยกาลเวลา ลูกหลานแกคงจะมีแต่ก็คงพึ่งพาใครไม่ได้ เพราะต่างคนก็มีรายได้ไม่มาก สุดท้ายยายบัวก็ต้องมาทำงานเลี้ยงตนเอง
นายจ้างของยายได้นำกระเป๋า เสื้อ หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆที่ยายบัวและเพื่อนๆนั่งทำมากับมือ นำมาขายได้เงินหลายพันบาทต่อชิ้น เพราะถือว่าเป็นงานฝีมือ ทำขึ้นมายากและลำบากแบบหฤโหด (ใครกันแน่ที่ลำบาก?)…แต่จำนวนเงินที่เขาขายได้นั้นก็มิได้เกี่ยวอะไรกับค่าแรงของยายบัว มิได้ทำให้ยายบัว กลับกลายเป็น คุณนายบัว ยายบัวก็คงยังเป็นยายบัวคนเดิม ยิ้มแห้งๆ เจื่อนๆ นั่งปั่นด้ายบนพื้นไม้ตั้งแต่เช้าจรดเย็น
หากผ่านไปที่ใดแล้วบังเอิญเห็นผ้าพันคอผืนสวยอย่างที่แม่หญิงคนนี้ใส่อยู่ล่ะก็…อย่าลืมนึกถึงคุณยายบัวและพวกยายๆป้าๆทั้งหลาย เพราะว่ามันถูกสรรสร้างมาจากเรี่ยวแรงและหยาดเหงื่อของหญิงชราอีกหลายๆคน ที่นั่งยิ้มเจื่อนๆไป ปั่นด้ายไป เรื่อยๆ เอื่อยๆ ตามประสาของคนแก่ กลางบ้านไม้เก่าๆ ริมทะเลสาบอินเลอันกว้างใหญ่
Leave a Reply